ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหว สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ให้ข้อมูลบนเวทีเสวนา ก้าวข้ามธรณีพิโรธ : นวัตกรรม ววน. พลเกมภัยแผ่นดินไหว เพื่ออนาคตที่ปลอดภัยของไทย ซึ่งจัดโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริม วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว.
โดย ศาสตราจารย์ ดร.เป็นหนึ่ง เปิดเผยว่า ความจริงทีมวิจัยมีการประเมินไว้แล้วเมื่อ 20 ปีก่อน ว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในเมียนมา จะมีการสั่นสะเทือนที่รุนแรงมาก และเมื่อแผ่นดินไหวผ่านไป ความรุนแรงจะลดทอนลงเรื่อย ๆ
อย่างไรก็ตาม หากดูในเชิงวิศวกรรมแผ่นดินไหว จะพบว่ากรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นแอ่งดินอ่อนยักษ์ จะเพิ่มแรงสะเทือนของแผ่นดินไหว 3-4 เท่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการโยกอย่างช้า ๆ จากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย ต่างจากลักษณะพื้นที่สั่นไหวที่ไม่ใช่ดินอ่อน ซึ่งลักษณะนี้จะทำให้ตึกสูงรับรู้ความสั่นไหวได้รุนแรงมาก
ทั้งนี้ จากการทำงานอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี ทีมวิจัยได้ประเมินสถานการณ์แผ่นดินไหวที่จะเกิดขึ้นในไทย ไว้ 3 สถานการณ์ ที่อาจเกิดผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนี้
1. แผ่นดินไหวขนาด 7-7.5 ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี แนวรอยเลื่อนมาทางกรุงเทพฯ
2. แผ่นดินไหวขนาด 8 ที่แนวรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา
3. แผ่นดินไหวขนาด 8.5-9 ที่แนวแผ่นเปลือกโลกมุดตัวในทะเลอันดามัน
สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุด คือเหตุการณ์ที่ 2 ซึ่งทีมวิจัยเคยประเมินสถานการณ์ไว้ แต่บอกไม่ได้ว่าจะเกิดขึ้นในวงรอบกี่ปี ซึ่งอาจกินเวลาวงรอบ 300-400 ปี หรือในช่วงชีวิตคนคนหนึ่ง อาจจะไม่ได้เจอเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเลย แต่ล่าสุดในช่วงชีวิตเรา มาเจอแผ่นดินไหวจากรอยเลื่อนสกาย เมื่อ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 28 มีนาคม ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นง่าย ๆ อาฟเตอร์ช็อกก็จะเบาลงเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวในสถานการณ์ที่ประเมินไว้อื่น ๆจะไม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้น อาคารที่จะสร้างในอนาคต ต้องวางแผนการสร้างที่รองรับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวด้วย
อนึ่ง สถานการณ์ที่ทีมวิจัยประเมินไว้ และยังต้องจับว่าอาจจะเกิดขึ้นได้ คือเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่กาญจนบุรี ขนาด 7-7.5 ซึ่งหากเกิดขึ้นจริง แนวรอยเลื่อนดังกล่าว เส้นทางการเคลื่อนไหวจะมาทางกรุงเทพฯ โดยตรง