คำ ผกา ลั่น อย่าหยุดอ่านวรรณกรรม! พุ่งบูธมติชน กวาดเฉียด 10 เล่ม ประเดิมมหกรรมหนังสือ
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮออล์ 5-7 ภายในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 29 ในธีม ‘อ่านกันยันโลกหน้า’
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบูธสำนักพิมพ์มติชน J02 ว่ามีผู้ทยอยเดินทางเข้าเลือกซื้อหนังสืออย่างต่อเนื่อง รวมถึง น.ส.ลักขณา ปันวิชัย หรือ คำ ผกา คอลัมนิสต์ และพิธีกรชื่อดัง ซึ่งเลือกซื้อหนังสือหลายเล่ม อาทิ Capitalism Magic Thailand เทวา มนตรา คาถา เกจิ ไสยศาสตร์ยุคใหม่กับทุน (ไทย) นิยม เขียนโดย Peter A. Jackson แปลโดย วิราวรรณ นฤปิติ, 2475 ราสดรส้างชาติ เขียนโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ตำรับสร้าง (รส) ชาติ เขียนโดย นริศ จรัสจรรยาวงศ์, ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น เขียนโดย พิชชารัศมิ์ รวมถึงนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์
คำ ผกา กล่าวว่า วันนี้ได้เลือกซื้อหนังสือเยอะมาก เล่มแรกคือ มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 11-17 ตุลาคม 2567 ปก เนวิน-แม้ว เริ่มใหม่นะครับนาย? โดยอีกเล่มที่ตั้งใจมาซื้อโดยเฉพาะภายในงานนี้ คือ
Capitalism Magic Thailand เทวา มนตรา คาถา เกจิ ไสยศาสตร์ยุคใหม่กับทุน (ไทย) นิยม ผู้เขียน Peter A. Jackson แปลโดย วิราวรรณ นฤปิติ
” ปีเตอร์ แจ็กสัน เป็นนักวิชาการไทยศึกษา ที่ทำเรื่องวัฒนธรรมศึกษา และ Popular Culture ในประเทศไทย เมื่อก่อน ปีเตอร์ แจ็กสัน สนใจเรื่องวัฒนธรรมเกย์ แต่ปัจจุบันนี้มาสนใจเรื่องไสยศาสตร์และทุนนิยม จึงอยากรู้ว่าในงานวิจัยของเขาอธิบายเรื่องพวกนี้อย่างไรบ้าง ซึ่งน่าอ่านมาก” คำ ผกา กล่าว
คำ ผกา กล่าวว่า ตนเป็นคนสนใจเรื่องประวัติศาสตร์อาหารและประวัติศาสตร์ 2475 จึงหยิบหนังสือ 2475 ราสดรสร้างชาติ นานาอารยธรรม ‘รูป รส กลิ่น เสียง’ ในยุคปฏิวัติสยาม และ ตำรับสร้าง (รส) ชาติ ของ นริศ จรัสจรรยาวงศ์ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์ Cookbook ของประเทศไทย ในยุค 2475 รวมถึง ผู้หญิงเก่งธุรกิจญี่ปุ่น ของ พิชชารัศมิ์ เพราะตอนนี้ ตนเป็น CEO เรียบร้อยแล้ว ต้องอ่านหนังสือธุรกิจ, เลิกขายดีกำไรน้อย ยุคนี้ต้องขายน้อยกำไรงาม
คำ ผกา กล่าวค่อไปว่า สำหรับวรรณกรรมที่หยิบมา ก็คือ ดอกไม้ผลิบาน ในวันที่ฉัน (ไม่) อดทน และ บ้านตรงถนนมะม่วง:The House onMangoStreet เป็นเรื่องผู้หญิงที่ต้องต่อสู้ ตนมองว่าต้องน่าสนุกแน่ๆ
“การอ่านมีประโยชน์อย่างมาก เพราะทำให้เราได้อยู่คนเดียวเงียบๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะว่าในยุคปัจจุบันเราไม่ได้อยู่เงียบๆ สักเท่าไหร่ และยังช่วยยกระดับในการใช้ภาษา ทุกครั้งที่เราอ่าน เราจะได้ฝึกจับใจความ และการเรียบเรียงคำพูด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญ เพราะได้ใช้ในการประกอบอาชีพทุกวัน
และที่สำคัญที่สุดไม่อยากให้หยุดอ่านงานวรรณกรรม เพราะงานวรรณกรรมจะทำให้เรามีความเข้าใจ และมี empathy มีความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ที่ไม่เหมือนเรา ในแง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง หรือแม้กระทั่งทำให้กลับมาเข้าใจตัวเราเอง หรือตัวละครในวรรณกรรม” คำ ผกา ทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 จัดระหว่างวันที่ 10 – 20 ตุลาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น.- 21:00 น. ชั้น LG ฮอลล์ 5 – 7 โดยสำนักพิมพ์มติชนตั้งอยู่ที่ บูธ J02